เมื่อถามเด็กๆว่า...ในการต่อสู้ของตัวละครฝ่ายดีกับฝ่ายร้ายเด็กๆต้องการให้ฝ่ายไหนชนะ
เเน่นอนว่าคำตอบที่ได้จากเด็กๆก็คือ อยากให้ตัวละครฝ่ายดีเป็นผู้ชนะ
ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ที่ย่อมปรารถนาความดี มากกว่าความชั่ว ดังนั้นในการบ่มเพาะให้เยาวชนสามารถเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่มั่นคงในความดีนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องเปรียบเทียบให้เขาเห็นจากสิ่งรอบตัวของเขา
ตัวละครฝ่ายดีนั้นเป็นตัวแทนของความดีงาม และคุณธรรมต่างๆ ตรงกันข้ามกับฝ่ายร้ายที่เป็นตัวแทนของอกุศลกรรม ในการต่อสู้แข่งขันกันของความดีและความไม่ดีนั้น ผลแพ้ชนะย่อมขึ้นอยู่กับพละกำลัง และจำนวน ฝ่ายไหนมีกำลังและจำนวนมากกว่าก็จะสามารถกุมชัยชนะไว้ได้
การแข่งขันกันระหว่างความดีและความไม่ดี สนามแข่งนั้นอยู่ภายในจิตใจของเรา ผู้แข่งฝ่ายความดีนั้นมีหัวหน้าทีม คือ สติ (ความรู้สึกตัว) สัมปชัญญะ (ความเข้าใจชัดตามความเป็นจริง) หิริ (ความละอายต่อการทำความชั่ว) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว) ส่วนหัวหน้าฝ่ายความไม่ดีนั้น ก็คือความเผลอสติ ความไม่ละอายต่อการทำความชั่ว และความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว
สิ่งสำคัญคือการเปรียบเทียบจากประสบการณ์ของเด็ก ๆ และแสดงให้เขาเห็นชัดเจน ว่าการชักเย่อนั้นได้เกิดขึ้นตลอดอยู่ภายในจิตใจของพวกเขา เริ่มต้นที่ความคิด แล้วนำไปสู่การพูด และการกระทำ ซึ่งจะส่งผลต่อความคิด คำพูดและการกระทำของเขาต่อไปในอนาคต ถ้าความคิดในทางที่ดีมีมากกว่า มีกำลังเยอะกว่า โอกาสที่จะทำดีพูดดีก็มีมากขึ้น ในทางกลับกันความคิดที่ไม่ดีก็ยังคอยดึงรั้งเชือกจากอีกฝั่งหนึ่งเอาไว้ ยิ่งความคิดไม่ดีเยอะ โอกาสที่เราจะทำไม่ดีพูดไม่ดีก็มีเยอะ ความดีเเละความไม่ดีนั้นก็อยู่กันคนละด้าน เเละคอยดึงกันไปดึงกันมาอยู่ตลอด ภายในสนามแข่งที่เรียกว่า "จิตใจ"
ดังนั้นเมื่อปรารถนาความดีงามในชีวิต สิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำก็คือ การพยายามเพิ่มกำลัง และจำนวนของผู้แข่งขันฝ่ายความดี รักษาความดีไว้ไม่ไห้ลดลง ระวังป้องกันไม่ให้ความไม่ดีเพิ่มขึ้น และพยายามลดจำนวนของความไม่ได้ลง
หลังจากเปรียบเทียบให้เขาเห็นเช่นนี้แล้ว เมื่อถามเด็กๆ อีกครั้งว่า ในจิตใจของเรานั้นความดีกับความไม่ดีเเข่งกันอยู่ เด็กๆ จะเลือกช่วยฝ่ายไหน เเล้วก็คำตอบที่ออกมาก็เป็นที่เเน่นอนว่า เด็กๆก็ยังคงอยากให้ฝ่ายความดีชนะอยู่เช่นเคย