การตอบคำถาม : แนวทางแห่งการส่งเสริมความงอกงามทางปัญญา
"จงพยายามตอบปัญหากับเด็กเสมอ...อย่าเหนื่อยหน่ายในการสนทนากับเขาเป็นอันขาด
การทำดังนี้เป็นการช่วยให้เด็กได้ก้าวหน้าในทางปัญญาประการหนึ่ง"
ปัญญานันทภิกขุ
ความสงสัยของเด็กๆ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องคลี่คลาย จะถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นการช่วยปลูกฝังความช่างสังเกต และบ่มเพาะกระบวนการตั้งคำถามของเด็กๆ ส่วนการที่แสดงออกถึงความรำคาญ หรือไม่พอใจในความช่างซักช่างถามของเด็กๆนั้น จะทำให้พวกเขาไม่กล้าแสดงออกเมื่อเกิดคำถามขึ้นมา ทำให้กระบวนการตั้งคำถาม และหาคำตอบถูกปิดกั้นไว้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคตได้
เมื่อคำถามที่เด็กๆ ถามเป็นคำถามที่เราสามารถให้คำตอบได้ เราจะมีทางเลือกในการตอบปัญหานั้นอยู่ ๒ ทางเลือก ทางหนึ่ง คือการตอบสิ่งที่เขาสงสัยนั้นทันที อีกทางหนึ่ง คือการเว้นระยะ ให้เขาเกิดกระบวนการตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง ก่อนที่จะคลายข้อสงสัยนั้นในภายหลัง
วิธีการไหนที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดพัฒนาการทางสติปัญญามากกว่ากัน ในส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรพยายามตอบคำถามแก่เด็กๆของตน และคอยส่งเสริมให้พวกเขาได้เกิดกระบวนการตั้งคำถาม และหาคำตอบอย่างเป็นระบบ หรือที่เราเรียกว่ากะบวนการทางวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างจากกิจกรรม การทำสังขยาฟักทอง ในกิจกกรมนี้เราสามารถนำเด็กเข้าสู่ความรู้รอบตัว และหลักวิชาการต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น เรื่องไอน้ำและการแปรสภาพของน้ำ สารอาหารที่มีประโยชน์ในฟักทอง หรือวิธีการเลือกวัตถุดิบที่ดี แต่สิ่งที่เด็กๆ สนใจและตั้งคำถามนั้นกลับเป็นเรื่องที่ว่า "ทำไมถึงใช้ไข่เป็ดทำสังขยา ใช้ไข่ไก่ได้ไหม"
หากคำถามนี้เกิดขึ้นในห้องเรียนทำอาหารทั่วไป เด็กๆ ก็คงได้คำตอบอย่างง่ายดายจากคุณครู แต่สำหรับคุณครูที่มาสอนเด็กๆ ในครั้งนี้แตกต่างออกไป คุณครูไม่ได้ให้คำตอบแก่เด็กในทันที ทั้งยังกระตุ้น และส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักการตั้งสมมติฐานขึ้น ว่าทำไมถึงต้องใช้ไข่เป็ด
ด้วยระยะเวลาที่จำกัด เด็กๆจึงไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างของการใช้ไข่สองชนิดนี้ได้ เรื่องของการใช้ไข่เป็ดนั้นอยู่ในส่วนของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ผ่านการทดลอง และบ่มเพาะด้วยกาลเวลา ซึ่งในตอนท้ายกิจกรรมคุณครูก็ได้อธิบายถึงเหตุที่นิยมนำไข่เป็ดมาใช้ นั่นเพราะไข่เป็ดมีไข่แดงมากกว่า และสีสดกว่าไข่ไก่ ซึ่งเมื่อทำออกมาแล้วจะได้สีที่สวยงาม
ถึงคำถามและคำตอบจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับพวกเด็กๆแล้ว คำตอบที่เขาหามาได้นี้จะตรึงอยู่ในความทรงจำของเขา แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เด็กๆก็ยังคงหาคำตอบด้วยตนเองไม่ได้ แต่คุณครูก็ประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการค้นหาคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัยของตนลงไปยังจิตใจของพวกเขา
เราจะเห็นได้ว่าการตอบคำถามเด็กนั้น มีอะไรมากกว่าแค่การตอบผ่านๆ ไปเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับเรา ว่าคำตอบของเราจะทำหน้าที่เพียงคลายสงสัย หรือทำหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาการทางปัญญาของพวกเขาด้วย...