ท่องเที่ยวกับการเจริญสติ
ถาม : ตามที่พระอาจารย์บอกว่า การเตรียมตัวปฏิบัติอานปานสติในขั้นต้นคือ ให้หยุดการท่องเที่ยว ถ้าเรายังทำงานปกติอยู่และมีการปฏิบัติศึกษาธรรม และแบ่งเวลาสำหรับการท่องเที่ยวด้วย (เพราะชอบเที่ยว) อย่างนี้จะเริ่มอานาปานสติได้ไหมคะ
ตอบ : ได้ เที่ยวได้ไม่เป็นอะไร ที่อาจารย์บอกว่าให้ลดหรือเลิกเที่ยวเตร่เฮฮานั้น หมายถึงการเที่ยวที่เป็นบาป เช่นเที่ยวยิงนกตกปลา เที่ยวไปในสถานที่ไม่เหมาะสม เที่ยวกลางคืน หรือการกินเลี้ยงสังสรรค์ที่เคยมีอยู่บ่อยๆ ก็ลดให้น้อยลง เพื่อที่จะได้มีเวลาสำหรับปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่การท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ในลักษณะทัศนะศึกษา เที่ยวชมธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมก็ไปได้ การเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติไปแล้วสบายใจก็เป็นผลดีต่อจิตใจ เมื่อเราได้พักผ่อนคลายความเครียด สบายใจแล้ว เราก็สามารถเจริญสติได้ดีขึ้น จริงๆ แล้วในการเดินทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เราก็สามารถเจริญอานาปานสติไปได้ด้วย เพราะอานาปานสติคือลมหายใจ ชีวิตทั้งหมดของเราอยู่ด้วยลมหายใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตลอดวัน ตลอดคืน เราก็หายใจอยู่ เราก็สามารถเจริญอานาปานสติไปพร้อมกับการเที่ยวด้วยก็ได้ บางครั้งการได้ออกจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยชิน เช่นที่ทำงาน ที่บ้าน เปลี่ยนบุคคลที่พบเจอ ไปเที่ยวในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ มีเวลาเป็นอิสระ กายวิเวก ส่งเสริมให้มีความสงบในใจก็มีประโยชน์สำหรับการพัฒนจิตใจ
เที่ยวด้วยอานาปานสติ คือพยายามทำหน้าที่ของตัวเอง ทำดีที่สุดด้วยใจที่ดี เดินเที่ยวอยู่ก็เป็นการเดินจงกรม นั่งอยู่ก็เจริญอานาปานสติ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเท่านั้น นั่งบนเก้าอี้ก็ทำได้ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ นอนอยู่เราก็ทำได้เหมือนกัน หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ มีสติระลึกรู้ตลอดเวลาว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนอยู่ เพราะเมื่อเราเดินทางท่องเที่ยว ร่างกายของเราก็การเคลื่อนไหว เปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอด ก็ให้หัดมีสติ มีความรู้สึกตัวในการยืน เดิน นั่ง นอน ในทุกอิริยาบถ ถ้าทำอย่างนี้ได้ แม้ไปเที่ยวก็เป็นการเจริญอานาปานสติได้
จากหนังสือ "ปัญหา 108 เล่ม 7"
โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554