การปฏิบัติธรรมกับการควบคุมอารมณ์
ถาม : การควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อมีอารมณ์ไม่ดี เช่น โกรธ ไม่พอใจ ผิดหวัง มีเคล็ดลับต้องปฏิบัติและควบคุมการกระทำและอารมณ์ของเราอย่างไร ไม่ให้สภาวะนั้นมาทำลายตนเอง
ตอบ : ถ้าทนไม่ได้จริงๆ เราก็หลบไปก่อน ต้องบำเพ็ญขันติบารมีให้มากๆ ขันติบารมี หมายถึงความอดทน ต้องอดทนให้มากๆ ถ้าอดทนจนคิดว่าจะอดทนไม่ได้ มันจะระเบิดจริงๆ ก็หลบไป อย่าเข้าไปใกล้ เดี๋ยวมันจะลงไม้ลงมือกัน ให้หลบไปก่อน แล้วตั้งสติให้ได้ จนระงับอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับจิตที่มันกำลังเดือดปุดๆ มันจะระเบิด มันโมโหสุดขีดนั่นแหละ แสดงว่าบารมีของเรายังไม่แก่พอ ตบะของเรายังไม่เข้มแข็ง ตอนนั้นก็ให้หลบไปก่อน ถ้าเราคิดว่าเราสู้ได้ เราระงับได้ก็ไม่เป็นไร จนสงบเรียบร้อยค่อยพูดคุยกันทีหลัง
ถาม : การปฏิบัติธรรมสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายที่เจ็บป่วยให้ดีขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ : ป่วยทางกายเป็นเรื่องปกติธรรมดา หมอก็ต้องรักษาไปตามอาการ แต่หมอก็ยังยอมรับว่า คนที่มีอาการทางจิตมีมาก คือป่วยทางจิตใจ เป็นเรื่องสุขภาพจิต ถ้าป่วยไข้ทางร่างกาย แล้วมีทางจิตใจบวกเข้าไปด้วย อาการป่วยนั้นจะหนักขึ้นกว่าเก่า เป็นน้อยๆก็จะเป็นมากพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า พวกเรานี่สติยังไม่สมบูรณ์ สติยังไม่สมบูรณ์คืออะไร อย่างครึ่งๆ เขาเรียกว่าบ้าๆ บอๆ นะ เวลาเจออารมณ์อะไรมากระทบปุ๊บมันก็จะออกบ้าขึ้นมาแล้ว โกรธขึ้นมาก็แสดงตัวแสดงตน เป็นอาการทางจิตทั้งนั้น การที่จะทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้น ก็ต้องปฏิบัติธรรม ควบคุมอารมณ์ของเราอันนี้เรื่องสุขภาพจิตป่วยทางกายก็ค่อยไปรักษาทางกาย แต่สุขภาพจิตก็ต้องรักษาอาการกำเริบทางใจ ต้องให้สมบูรณ์ ให้ดีให้เข้มแข็งเมื่อจิตใจดี ปกติดี เข้มแข็ง โรคภัยภายนอกก็จะเบาลงไป
พระครูภาวนาอุดมคุณ (โสภา อุตฺตโม)
วัดเขาวันชัยนวรัตน์ นครราชสีมา
สาขาวัดหนองป่าพงที่ 82
ตอบตามธรรม เล่ม 2