คำว่า…มิตรแท้…มีคุณค่ายิ่งใหญ่ไพศาล ยากจะหาสิ่งใดมาเทียบเคียงได้…
กัลยาณมิตร…จัดเป็น ปรโตโฆษะ…เป็นเสียงภายนอกที่ควรรับฟัง…ควบคู่ กับ โยนิโสมนสิการ
กัลยาณมิตร เป็นทั่งหมดของพรหมจรรย์…ในพระพุทธศาสนา!
กัลยาณมิตร คือ มิตรที่ดี มีคุณธรรม มิตรที่แนะประโยชน์ให้
พรหมจรรย์ คือ การประพฤติธรรม หรือ การครองชีวิต อันประเสริฐ..
@…กัลยาณมิตรในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า!
พระพุทธเจ้า ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ในสมัยหนึ่งเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ณ ตำบล บ้านเวภฬิคะ มีชายหนุ่ม 2 คนเป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่ง ชื่อ ฆฏิการะ อีกคนหนึ่ง ชื่อ โชติปาละ ทั้งสองคนนี้แม้จะเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่กลับมีอุปนิสัยในทางธรรมที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
ฆฏิการะ นั้นเป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เขาได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐากที่ดีเลิศของพระพุทธเจ้ากัสสปะ แต่ โชติปาละ เป็นพราหมณ์ ผู้ที่ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเลย เขาไม่เคยไปฟังธรรม ไม่เคยแม้แต่จะไปกราบพระพุทธเจ้า ฆฏิการะก็พยายามชักชวนอยู่เสมอ แม้ว่าความปรารถนาดีของเขาจะถูกปฏิเสธทุกครั้ง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ฆฏิการะจึงออกอุบายชวนโชติปาละไปอาบน้ำยังท่าน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระอารามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พออาบน้ำชำระกายเป็นที่เย็นกายเย็นใจแล้ว ฆฏิการะก็กล่าวชวนโชติปาละว่า
"โชติปาละไปเถอะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน พระอารามของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงนี้เอง" โชติปาละกล่าวตอบว่า "อย่าเลย เราไม่เห็นประโยชน์อะไรกับการที่จะได้เห็นสมณะโล้น สู้ไปเที่ยวยังจะสนุกเสียกว่า"
ฆฏิการะก็บอกว่า "มีประโยชน์สิ เพราะการเห็นสมณะนั้นเป็นมงคล ไปกันเถอะ"
โชติปาละก็ปฏิเสธอีก ฆฏิการะจึงเดินเข้าไปจับมือของโชติปาละ โชติปาละสะบัดมือออก ฆฏิการะเปลี่ยนมาจับชายพกของโชติปาละ โชติปาละก็ดึงมือออกอีก ฆฏิการะไม่ละความพยายามหันมาดึงมวยผม พร้อมกับกล่าวชวนซ้ำอีก คราวนี้โชติปาละจึงคิดว่า
"เอ๊ะ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ฆฏิการะผู้เป็นเพียงช่างปั้นหม้อ ผู้มีชาติต่ำ กล้ามาดึงมวยผมเราผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพระพรหม ตามปกติเพื่อนของเราไม่เคยทำอย่างนี้ มีความปรารถนาดีต่อเรามาตลอด ไม่เคยชักชวนไปในทางที่ผิดเลย การไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คงจะเป็นการดีเป็นแน่"
ดังนั้นโชติปาละจึงยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อไปถึงพระอาราม ทั้งสองกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นั่งในที่อันควรข้างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงปฏิสันถารด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยอันเป็นดุจกระแสธาราที่ชุ่มเย็นแก่คนที่เดินทางในทะเลทราย ทำให้โชติปาละมีความเลื่อมใสกระทั่งขอบวชกับพระพุทธเจ้า จึงชวนฆฏิการะออกบวช แต่เนื่องจากฆฏิการะต้องเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด จึงไม่อาจที่จะบวชได้ โชติปาละจึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และได้ตั้งใจประพฤติธรรมจนตลอดอายุขัย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "เธออย่าคิดว่าฆฏิการะช่างปั้นหม้อเป็นเราตถาคต โชติปาลพราหมณ์ต่างหากที่เป็นเราตถาคต ในชาตินั้น"
แม้พระโพธิสัตว์ก็ยังต้องอาศัยกัลยาณมิตร คอยประคับประคองแนะนำสู่เส้นทางที่ถูกต้องดีงาม เพื่อไปถึงจุดหมายสูงสุดคือได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“กัลยาณมิตรจึงเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”
กลับมาย้อนดูตัวเราบ้างว่า ใครคือกัลยาณมิตรในชีวิตของเรา? ให้สำรวจดูรอบๆ ตัวว่ามีใครบ้างที่ประกอบไปด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งมี 7 ประการ คือ
1. ปิโย – น่ารัก (ในฐานเป็นที่วางใจและรู้สึกสนิทสนม)
2. ครุ – น่าเคารพ (ในฐานให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย)
3. ภาวนีโย – น่ายกย่อง (ในฐานทรงคุณ คือ ความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง)
4. วัตตา – รู้จักพูด (คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี)
5. วจนักขโม – อดทนต่อถ้อยคำ (พร้อมที่จะรับฟังคำซักถามต่าง ๆ อยู่เสมอ และสามารถรับฟังได้ด้วยความอดทนไม่เบื่อ)
6. คัมภีรัญจ กะถัง กัตตา – (กล่าวชี้แจงแถลงเรื่องต่าง ๆ ที่ลึกซึ้งได้)
7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย)
แม้จะไม่ครบทุกข้อ แต่ก็พอจะเป็นกัลยาณมิตรให้เราได้ เพราะสำคัญกว่าการมีกัลยาณมิตรนั้นก็คือ "การรู้จักไตร่ตรองด้วยตนเองอย่างมีโยนิโสมนสิการ หรือด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ" เพื่อที่จะรู้ว่า ถ้อยคำใดจากใครปรารถนาดีต่อเรา หากคิดไม่ดี ต่อให้มีกัลยาณมิตรพูดดีแค่ไหน ก็ไม่เกิดผลในทางดี บางทีอาจโกรธเสียอีก
ดังนั้น ไม่เพียงแค่เราต้องแสวงหากัลยาณมิตรเพื่อใกล้ชิดและเรียนรู้จากท่าน เราเองก็จะต้องเปิดใจใฝ่รู้ อดทนต่อการตักเตือนและฝึกฝนตนเองให้มีความก้าวหน้าในชีวิตอย่างต่อเนื่อง …ที่สำคัญที่สุดคือ การรู้จักประพฤติตนเพื่อเป็น กัลยาณมิตร ..ต่อตนเอง และผู้อื่น!!!
อารยวังโส ภิกขุ
เรียบเรียง..วันพระ ที่ 2 กค.2564..พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี ภูเก็ต