อานาปานสติ
อานาปานสติเปรียบเทียบได้ว่าลูกกับแม่เดินในตลาด ที่มีคนเดินไปมามากมาย ลูกเป็นเด็กเล็กๆ สนใจดูโน่นนี่สารพัด แต่ลูกก็ต้องสนใจจับตาดูแม่บ่อยๆ จะเหลียวซ้ายเหลียวขวา ดูอะไรๆ ก็ดูไป แต่ก็ต้องสนใจเหลียวมาดูแม่บ่อยๆ ให้รู้ว่าแม่อยู่ที่ไหน ต้องมีสติหาตัวแม่ตลอดเวลา อ้อ เห็นแม่อยู่ดีแล้วจะหันไปดูอะไร ๆ นิดหน่อยก็ได้ ลูกต้องสนใจจับตาดูแม่ ระลึกถึงแม่บ่อยๆ จนแน่ใจว่าเราอยู่ใกล้ๆ แม่ ไม่หลงทาง ในการเจริญอานาปานสติ ลมหายใจคือแม่ สติก็คือลูกเล็กๆ นี่แหละ สติต้องกลับมาจับลมหายใจบ่อยๆ อย่าทิ้งนาน กลับมาดูลมหายใจบ่อยๆ สมมติว่าถ้าสติไม่ทิ้งลมหายใจนานเกิน 5 วินาที จิตก็ไม่มีโอกาสหลงในอารมณ์ยินดี ยินร้าย
การเดินอานาปานสติท่านสอนให้เดินตามธรรมชาติ ธรรมดา เดินสบายๆ แต่ให้มีอาการสำรวมหรือเดินช้านิดๆ เดินให้เรียบร้อย พอดีพองาม มีสติระลึกรู้ทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก พร้อมกับรู้อยู่ว่าเรากำลังเดิน เดินต้นทางก็รู้ เดินถึงกลางทางก็รู้ ขวาก้าวก็รู้ ซ้ายก้าวก็รู้ รู้ทุกก้าว ถ้ามีหินหรือตอไม้ เราก็ไม่เตะ มีงูเราก็ไม่เหยียบ รู้ทุกอย่างเป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องเพ่งที่จุดใดจุดหนึ่งของการเดิน ให้ระลึกถึงลมหายใจเป็นหลัก นอกจากนั้นอะไรมาสัมผัสกับใจก็รับรู้ตามปกติธรรมดา เราอาจจะคิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง คิดเรื่องอดีตบ้าง คิดเรื่องอนาคตบ้างคิดแล้วก็ดับไปๆ นิวนณ์อะไรๆ เกิดแล้วก็ดับไปๆ เห็นอะไร ได้ยินอะไร หรือรู้สึกนึกคิดอะไรๆ อะไรจะเกิดก็รู้
การนั่งสมาธินี้สำคัญ นั่งให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า มีสติระลึกรู้อยู่แต่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลกขณะนี้ เดี๋ยวนี้สำหรับเรา อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ
หน้าที่ของเราในขณะนี้มีแค่นี้ พยายามจ้องดูความรู้สึกที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สติเหมือนคนเฝ้าประตู ลมคือคนที่เข้า - ออกประตู คนเฝ้าประตูก็เฝ้าอยู่ที่เดียว ไม่ต้องตามคนเข้าคนออก ตั้งสติระลึกรู้อยู่ที่เดียว จ้องอยู่อย่างนั้น อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต่อไปจิตก็จะสงบ ลมก็จะละเอียดเข้าๆ น้อมเข้าไปๆ จิตเบา กายเบา จิตจะค่อยๆ รวมเป็นอารมณ์เดียว ตั้งมั่นเป็นสมาธิ นั่นก็เป็นการนั่งอานาปานสติที่เราทำกันและเข้าใจกันทั่วๆ ไป
ความพยายามของเราคือจับลมบ่อยๆ ยิ่งจับได้มากเท่าไรก็ยิ่งสงบมากเท่านั้น การติดอารมณ์ไม่มี จิตใจของเราก็ไม่มีโอกาสหลง เพราะสติของเราจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกสม่ำเสมอและมั่นคงปลอดภัยอยู่อย่างนั้น ถือเอาลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นที่อยู่ของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกตลอดเวลา
จากหนังสือ "จับลมบ่อยๆ"
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก