ปฏาจารา
พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัส "อย่าคิดเลยปฏาจารา, เธอมาสู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว; เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว, มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับ ฉันใด; น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-
"น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของคนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก มิใช่น้อยมากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น; เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า ? แม่น้อง."
เมื่อพระศาสดาตรัสอนมตัคคปริยายสูตรอยู่อย่างนั้น, ความโศกในสรีระของนาง ได้ถึงความเบาบางแล้ว ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้วทรงเตือนอีก แล้วตรัสว่า " ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้; เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว, ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น"
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
"บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดาก็ไม่มี ถึงพวกพ้องก็ไม่มี, เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล พึงชำระทางไปพระนิพพานโดยเร็วทีเดียว."
ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล, ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า " ปฏาจารา " เพราะนางกลับความประพฤติได้. วันหนึ่ง นางกำลังเอาหม้อตักน้ำล้างเท้า เทน้ำลง.น้ำนั้นไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ขาด. ครั้งที่ ๒ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกลกว่านั้น. ครั้งที่ ๓ น้ำที่เทลง ได้ไหลไปไกลแม้กว่านั้น ด้วยประการฉะนี้. นางถือเอาน้ำนั้นนั่นแลเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง ๓ แล้ว คิดว่า
"สัตว์เหล่านี้ ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก, ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น, ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น."
พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไป เป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสว่า "ปฏาจารา ข้อนั้นอย่างนั้น, ด้วยว่าความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์"
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺฑยํ.
"ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น."
จบธรรมเทศนานางปฏาจาราบรรลุอรหันต์
ความโดยย่อ ขุททก.คาถา.๔๑/๔๙๕/๑๘
ธรรมะจากพระโอษฐ์
(รวบรวมโดย พระอาจารย์พงษ์พันธ์ ฉนฺทกโร
ที่พำนักสงฆ์สวนโพธิญาณ จ.กาญจนบุรี)