อย่าดูหมิ่นการกระทำเล็กน้อย เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ไม่ถนอมบริขาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " มาวมญฺเถ ปาปสฺส " เป็นต้น ของสงฆ์ใช้เเล้วควรรีบเก็บ
ได้ยินว่าภิกษุนั้น ใช้สอยบริขารอันต่างด้วยเตียงและตั่งเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในภายนอกแล้ว ทิ้งไว้ในที่นั้นนั่นเอง บริขารย่อมเสียหายไป เพราะฝนบ้าง แดดบ้าง พวกสัตว์มีปลวกเป็นต้นบ้าง
ภิกษุนั้น เมื่อพวกภิกษุกล่าวเตือนว่า
"ผู้มีอายุ ธรรมดาบริขาร ภิกษุควรเก็บงำมิใช่หรือ ?"
กลับกล่าวว่า " กรรมที่ผมทำนั่นนิดหน่อย ผู้มีอายุ บริขารนั่นไม่มีจิต, ความวิจิตรก็ไม่มี " ดังนี้แล้ว (ยังขืน) ทำอยู่อย่างนั้นนั่นแลอีก
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลกิริยา (การ) ของเธอแด่พระศาสดา
พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุ ข่าวว่าเธอทำอย่างนั้นจริงหรือ ? "
เธอแม้ถูกพระศาสดาตรัสถามแล้ว ก็กราบทูลอย่างดูหมิ่นอย่างนั้นนั่นแหละว่า " ข้าเเต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นจะเป็นอะไร, ข้าพระองค์ทำกรรมเล็กน้อย บริขารนั้น ไม่มีจิต ความวิจิตรก็ไม่มี"
อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่านิดหน่อย
ทีนั้น พระศาสดาตรัสกับเธอว่า "อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้นย่อมไม่ควร, ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ใคร ๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย;เหมือนอย่างว่า ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอยู่ ไม่เต็มได้ด้วยหยาดน้ำหยาดเดียวโดยแท้, ถึงกระนั้น เมื่อฝนตกอยู่บ่อย ๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้เเน่ ๆ ฉันใด บุคคลผู้ทำบาปกรรมอยู่ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน " ดังนี้แล้ว.
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
มาวมญฺเถ ปาปสฺส น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
อาปูรติ พาโล ปาปสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ.
" บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง' แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลง (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด, ชนพาลเมื่อสั่งสม บาปแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น. "
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว. แม้พระศาสดา ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า " ภิกษุ ลาดที่นอน (ของสงฆ์) ไว้ในที่แจ้งแล้ว ไม่เก็บไว้ตามเดิมต้องอาบัติชื่อนี้ " ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร จบ.
#ขุททก.คาถา.๔๒/๑๙/๒๕
ธรรมะจากพระโอษฐ์
(รวบรวมโดย พระอาจารย์พงษ์พันธ์ ฉนฺทกโร
ที่พำนักสงฆ์สวนโพธิญาณ จ.กาญจนบุรี)