การพัฒนาสุขการลำดับ
ภิกษุ ท. ! ความบากบั่น ความพากเพียรจะมีผลขึ้นมาได้อย่างไร
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่นำความทุกข์มาทับถมตน ซึ่งไม่มีทุกข์ทับถม ไม่ต้องสละความสุขอันประกอบด้วยธรรมที่มีอยู่ด้วย และก็ไม่มัวเมาอยู่ในความสุขนั้นด้วย.
ภิกษุนั้นรู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า “เมื่อเรากำลังตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งเหตุแห่งทุกข์อยู่เป็นอารมณ์ วิราคะก็เกิดมีได้จากการตั้งไว้ซึ่งความปรุงแต่งนั้นเป็นเหตุ ; และเมื่อเราเข้าไปเพ่งอยู่ซึ่งตัวเหตุแห่งทุกข์นั้น ทำความเพ่งให้เจริญยิ่งอยู่ วิราคะก็เกิดมีได้” ดังนี้.
ภิกษุนั้น เมื่อตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งเหตุแห่งทุกข์ใดเป็นอารมณ์อยู่ วิราคะย่อมมีขึ้นได้ เพราะการตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งนั้นเป็นเหตุ ดังนี้แล้ว เธอก็ตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งในเหตุแห่งทุกข์นั้นเป็นอารมณ์ (ยิ่งขึ้นไป) ; และเมื่อเธอเข้าไปเพ่งซึ่งตัวเหตุแห่งทุกข์ใด ทำความเพ่งให้เจริญยิ่งอยู่ วิราคะย่อมมีขึ้นได้ ดังนี้แล้ว เธอก็เจริญความเพ่งในเหตุแห่งทุกข์ นั้น (ยิ่งขึ้นไป). เมื่อเธอตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งเหตุแห่งทุกข์นั้นๆ เป็นอารมณ์อยู่ วิราคะก็มีขึ้นเพราะการตั้งไว้ซึ่งการปรุงแต่งนั้นเป็นเหตุ ; เมื่อเป็นดังนี้ ความทุกข์นั้นของเธอ ก็สูญสิ้นไป ; เมื่อเธอเข้าไปเพ่งอยู่ซึ่งตัวเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ ทำความเพ่งให้เจริญยิ่งอยู่ วิราคะก็มีขึ้น เมื่อเป็นดังนี้ ความทุกข์นั้นของเธอ ก็สูญสิ้นไป. (นี้คืออาการที่ความบากบั่นความพากเพียรเกิดมีผล).
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษมีจิตกำหนัดปฏิพัทธ์ พอใจมุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนหนึ่ง, เขาเห็นหญิงนั้นยืนอยู่ พูดอยู่ ระริกซิกซี้อยู่กับบุรุษอื่น. โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสจะพึงเกิดขึ้นแก่เขาใช่ไหม ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะว่าบุรุษนั้นมีจิตกำหนัดปฏิพัทธ์ พอใจมุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนนั้นพระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ท. ! ต่อมาบุรุษคนนั้นคิดว่า “โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสเกิดขึ้นแก่เราเพราะเรามีจิตกำหนัดปฏิพัทธ์ พอใจมุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงนั้น ; ถ้ากระไร เราจะละฉันทราคะในหญิงนั้นเสีย” ดังนี้ แล้วเขาก็ละเสีย, ต่อมาเขาก็เห็นหญิงคนนั้น ยืนอยู่ พูดอยู่ ระริกซิกซี้อยู่กับบุรุษอื่น. โสกะปริเทวะทุกขะ โทมนัสอุปายาส จะเกิดขึ้นแก่เขาอีกหรือไม่หนอ ? “หามิได้ พระเจ้าข้า !” ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าบุรุษนั้นไม่มีราคะในหญิงนั้นเสียแล้ว”
ภิกษุ ท. ! ความบากบั่น ความพากเพียรจะมีผลขึ้นมาได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
(วิราคะคือความคลายกำหนัด ผูกพัน ยึดถือ)
( อุปริ. ม. ๑๔/๑๓/๑๒-๑๓.)
ธรรมะจากพระโอษฐ์
(รวบรวมโดย พระอาจารย์พงษ์พันธ์ ฉนฺทกโร
ที่พำนักสงฆ์สวนโพธิญาณ จ.กาญจนบุรี)