ผู้รักษาผู้อื่นชื่อว่ารักษาตน รักษาตนชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร?
[๗๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะ ชื่อเสทกะ ในสุมภชนบท. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้แล้ว เรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ดูก่อนเมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย มาเถิดมาขึ้นไม้ไผ่ แล้วยืนอยู่บนคอของเรา เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของนักไต่ราวแล้วขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ ครั้งนั้นแล คนจัณฑาลนักไต่ราวจึงพูดกะเมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ว่า ดูก่อนเมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย ท่านจงรักษาเรา เราจักรักษาท่าน เราทั้งสองต่างคุ้มครองกันและกัน ต่างรักษากันและกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภและจักลงจากราวไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี.
[๗๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน เราทั้งสองต่างคุ้มครองตน ต่างรักษาตนอย่างนั้น จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ แสะจักลงจากไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เหตุผลในข้อนั้นมีดังนี้ เหมือนศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะได้พูดกะอาจารย์ ฉะนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วย คิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น. บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน.
[๗๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร. ที่ชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วยการส้องเสพ ด้วยการเจริญ ด้วยการกระทำให้มาก. บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างนี้แล.
[๗๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไร. ที่ชื่อว่ารักษาตนด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความเอ็นดู. บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างนี้แล.
[๗๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น. บุคคลผู้รักษาตนย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน.
ปฐมเสทกสูตร
# สํ.มหา.๓๐/๔๕๓
ธรรมะจากพระโอษฐ์
(รวบรวมโดย พระอาจารย์พงษ์พันธ์ ฉนฺทกโร
ที่พำนักสงฆ์สวนโพธิญาณ จ.กาญจนบุรี)